19 Jan
Special Episode : การมองเห็นของเหล่าตัวน้อย 2

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับสายตาแต่ละแบบกันก่อนนะครับ 😊
👁 ใน ภาวะสายตาปกติ (Emmetropia) " เวลาเรามองวัตถุที่ระยะไกลโดยไม่เพ่ง "
 ✨️ แสงจากวัตถุจะสะท้อนเข้าสู่ตา เกิดเป็นจุดโฟกัสบนจุดรับภาพชัด (fovea) ที่อยู่บริเวณจอตาด้านหลังพอดี
✅️  ทำให้เรามองเห็นชัด
🔸️ เมื่อไปตรวจวัดสายตา ค่าสายตาที่วัดได้จะมีค่าเป็น 0
🔸️ เช่น S 0.00 D แปลว่า เรามีสายตาปกติ

✨️ แต่ถ้าแสงจากวัตถุที่สะท้อนเข้าสู่ตา ไม่ได้เกิดเป็นจุดโฟกัสบนจุดรับภาพชัดพอดี 
😵‍💫 ก็จะทำให้เรามีสายตาผิดปกติเกิดขึ้น และ เห็นได้แย่ลง

👁 หากจุดโฟกัสเกิดก่อนถึงจุดรับภาพชัด (fovea) จะเรียกคนเหล่านี้ว่ามี ภาวะสายตาสั้น (myopia) 
🔹️ เกิดได้จากกระจกตาของเราโค้งมากเกินไป หรือ มีความยาวลูกตายาวกว่าปกติ
🔸️ เมื่อไปตรวจวัดสายตา ค่าสายตาที่วัดได้จะมีค่าเป็น -
🔸️ เช่น S -2.00 D แปลว่า เรามีสายตาสั้น  200 

👁 ในทางตรงกันข้าม หากจุดโฟกัสนี้ เกิดหลังจุดรับภาพชัด (fovea) จะเรียกคนเหล่านี้ว่ามี ภาวะสายตายาว (Hyperopia) 
🔹️ เกิดได้จากกระจกตาของเราโค้งน้อยเกินไป หรือ มีความยาวลูกตาสั้นกว่าปกติ
🔸️ เมื่อไปตรวจวัดสายตา ค่าสายตาที่วัดได้จะมีค่าเป็น +
🔸️ เช่น S +2.00 D แปลว่า เรามีสายตายาว 200 

👁 แบบสุดท้าย ภาวะสายตาเอียง (Astigmatism) แสงจากวัตถุที่สะท้อนเข้าสู่ตา ดันเกิดเป็นจุดโฟกัสไม่เป็นจุดเดียวกัน 
🔹️ เนื่องจาก ความโค้งกระจกตาของเราไม่เท่ากันใน 2 แนว 
🔸️ เมื่อไปตรวจวัดสายตา ค่าสายตาที่วัดได้จะมีค่าเป็น -
🔸️ เช่น C -1.00 D แปลว่า เรามีสายตาเอียง 100 นั่นเอง

คำขอเล็กๆจากพวกเรานักทัศนมาตร ❤️
ลักษณะของสายตาทั้ง 4 แบบ “ อ้างอิงจากเวลาเรามองวัตถุที่ระยะไกลแบบไม่เพ่งทั้งนั้นเลย “ ดังนั้น เมื่อพี่ๆไปตรวจวัดสายตา พยายามไม่เพ่งหรือหยีตาเวลาอ่านตัวหนังสือที่ใช้ทดสอบนะครับ พี่ๆทุกคนจะได้ค่าสายตาที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดครับ

⏱️ ย้อนกลับไปในช่วงที่การมองเห็นของเหล่าตัวน้อยกำลังพัฒนา 

👶 โดยส่วนใหญ่ เหล่าตัวน้อย (ที่คลอดครบกำหนด) 
👀 จะเกิดมาพร้อมกับโครงสร้างดวงตาที่มีขนาดเล็กมาก กระจกตานูนโค้ง และเลนส์ตาป่อง
✨️ ทำให้แสงจากวัตถุที่สะท้อนเข้าสู่ตา เกิดเป็นจุดโฟกัสเลยจุดรับภาพชัดไป 
 👁 ส่งผลให้เหล่าตัวน้อยทั้งหลาย “มี #ภาวะสายตายาวตั้งแต่แรกเกิด “

🧒 ในช่วงขวบปีแรกเมื่อเหล่าตัวน้อยโตขึ้น ดวงตาของพวกเขาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
👀 ลูกตามีขนาดยาวขึ้น กระจกตาแบนลง และเลนส์ตาบางลง 
✨️ ทำให้แสงเกิดเป็นจุดโฟกัสใกล้จุดรับภาพชัดมากกว่าเดิม
👁 ภาวะสายตายาวที่เคยมีตั้งแต่แรกเกิดจึงลดลง จนกระทั่งกลายเป็น “ ภาวะสายตาปกติ ” เมื่อพวกเขามีอายุได้ประมาณ 7-8 ขวบ

📌 ระหว่างที่ดวงตาของพวกเขากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง 
🔹️ หากมีปัจจัยบางอย่างไปรบกวน ทำให้ลูกตาเปลี่ยนแปลงได้ไม่เต็มที่ 
🔸️เช่น กรรมพันธุ์จากพ่อแม่, มีโรคทางตาตั้งแต่กำเนิด , คลอดก่อนกำหนด หรือมีพฤติกรรมการใช้สายตาที่ไม่เหมาะสม 
😵‍💫 สิ่งเหล่านี้จะทำให้เหล่าตัวน้อยมี ภาวะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง แทนการมีสายตาเป็นปกติ เมื่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงของดวงตาสิ้นสุดลง 

แล้วชีวิตและการมองเห็นของเหล่าตัวน้อยจะเป็นอย่างไรต่อไป? เลื่อนไปรูปถัดไปเลย 🔽

🤓 สำหรับแก๊งเด็กสายตาสั้น จำนวนสมาชิกจะค่อนข้างมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี เพราะเป็นปัญหาการมองเห็นที่ พบได้บ่อยในเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะ “ เด็กเอเชีย ” อย่างพวกเรา

👶 เด็กคนไหนที่เริ่มเป็นสายตาสั้นตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นที่เร็ว
🔹️ ทำให้พวกเขามี ภาวะสายตาสั้นมาก (High myopia) เมื่อเติบโตขึ้น
🔹️ การมีภาวะสายตาสั้นมาก ไม่ใช่เรื่องสนุกเลยสำหรับพวกเขา นอกจากจะมองเห็นได้ไม่ดีแล้ว ยังทำให้พวกเขามีความเสี่ยงเป็นโรคทางตาได้มากขึ้นจากการมีสายตาสั้นมาก 
🔸️ เช่น จอตาลอก ( Retinal detachment), ต้อหิน (Glaucoma) , ต้อกระจก (Cataract) หรือจุดรับภาพชัดผิดปกติ (Myopic maculopathy) เป็นต้น
🔹️ โรคทางตาเหล่านี้อาจทำให้พวกเขาเกิดภาวะสายตาพิการ หรือสูญเสียสายตาอย่างถาวรได้ หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย, รักษา หรือป้องกันอย่างเหมาะสม 
🔹️แถมยังส่งผลให้การเจริญเติบโต, พัฒนาการในด้านต่างๆ ของพวกเขาเกิดได้ไม่สมบูรณ์ และเป็นอุปสรรคต่อการเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิตในอนาคตได้เมื่อพวกเขาโตขึ้น 🧑👩

🤔 แล้วปัจจัยอะไรบ้าง? ที่ทำให้เด็กๆในแก๊งนี้เป็นสายตาสั้น ตามไปดูกันเลย 👇

📌 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กๆเป็นสายตาสั้นได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น นั่นก็คือ พันธุกรรม และ พฤติกรรมการใช้สายตาระยะใกล้ นั่นเอง 

 👨 พันธุกรรม 👩‍🦰
🧬 เด็กที่มีพ่อหรือแม่เป็นสายตาสั้น จะมีโอกาสป็นสายตาสั้นตั้งแต่อายุยังน้อยได้ง่ายขึ้น และสายตาสั้นเพิ่มเร็วขึ้น 
📑 โดยมีงานวิจัยมากมายพบว่า เด็กชาวเอเชีย จะมีโอกาสเป็นสายตาสั้นได้มากกว่าชาติอื่นๆ
🥺 โชคไม่ดี ที่พันธุกรรม เป็นปัจจัยที่พ่อแม่และเด็กไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด แต่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยชะลอไม่ให้เด็กๆสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็วได้
✅️ ด้วยการ " ปรับพฤติกรรมการใช้สายตาระยะใกล้ของพวกเขาแทน"

 📱 พฤติกรรมการใช้สายตาระยะใกล้ 📱
" การให้เด็กๆอยู่กับหน้าจอนานๆ มีผลต่อสายตาของเขาไหม? "
 🤔 เป็นคำถามในใจของพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนอยู่หรือเปล่า? 
 📑 นักวิจัยมากมายได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า หากเด็กๆใช้สายตาระยะใกล้ หรือ ทำกิจกรรมระยะใกล้เป็นเวลานานๆ มีผลทำให้พวกเขาเกิดเป็นสายตาสั้น แถมสายตาสั้นยังเพิ่มขึ้นเร็วอีกด้วยนะ 
🔸️ยกตัวอย่างเช่น 
1. การอ่าน หรือ เขียนหนังสือ ในระยะใกล้กว่า 30 ซม. 
2. การใช้คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์ และ อุปกรณ์แท๊บเล็ตต่างๆ เพื่อการศึกษา, หาความบันเทิง, ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น หรือแม้กระทั่งกดสั่งซื้อสินค้า ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่เด็กๆต้องจ้องมองในระยะใกล้ทั้งนั้นเลย

🌏 แต่ในโลกปัจจุบันรวมถึงการแพร่ระบาดของ Covid 19  เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่า พวกเทคโนโลยีต่างๆ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก
✅️ ช่วยให้พวกเราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกขึ้น
✅️ เด็กๆสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล หรือ ความรู้ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายเพียงแค่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต 

❤️ ด้วยความห่วงใย สมาคมกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้แนะนำแนวทางในการใช้เทคโนโลยีเลี้ยงดูเด็กๆไว้ว่า ...
1️⃣ ไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ดูทีวี เล่นสมาร์ทโฟน , อุปกรณ์แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ( ยกเว้นวิดีโอคอลพูดคุยกับคนอื่น)
 ❎️ เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กแล้ว ยังทำให้พัฒนาการในด้านอื่นๆของพวกเขาช้าลงอีกด้วย
2️⃣ เด็กอายุ 2 – 5 ปี ควรจำกัดเวลาในการดูทีวี, เล่นสมาร์ทโฟน, อุปกรณ์แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ โดยไม่เกิน 1 – 2 ชั่วโมง/วัน

📌 ถ้าการใช้สายตาระยะใกล้มีผลทำให้เด็กๆเกิดเป็นสายตาสั้น งั้นเรามาช่วยกันปรับพฤติกรรมการใช้สายตาของพวกเขากันด้วยการ ....
🔽 ลดเวลาในการทำกิจกรรมระยะใกล้
🔼 เพิ่มการทำกิจกรรมนอกบ้านให้มากขึ้น
🌞 แอบกระซิบว่า หากชวนพวกเขาไปทำกิจกรรมนอกบ้านบ่อยๆ " ในช่วงที่ดวงตาของพวกเขายังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ (แรกเกิด - 8 ขวบ) "
✅️จะช่วยชะลอ, ป้องกัน และลดความเสี่ยงการเกิดเป็นสายตาสั้นได้ดีมากๆเลยคร้บ

🌤 กิจกรรมเหล่านี้ สามารถทำได้หลังจากที่พวกเขาเลิกเรียน หรือ ทำเป็นกิจกรรมสนุกๆในวันหยุดก็ได้
⏱️ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 40 -80 นาที ก็ช่วยให้พวกเขาห่างไกลจากสายตาสั้นได้แล้ว
❤️ แถมยังเป็นการสร้างช่วงเวลาและความทรงจำดีๆที่จะอยู่ในใจพวกเขาตลอดไปอีกด้วย

👴เมื่อพูดคำว่า สายตายาว หลายคนจะนึกถึง สายตาของผู้ใหญ่ ที่มีอาการมองระยะใกล้ไม่ค่อยชัด
✅️ แต่ในความเป็นจริงไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถเป็นสายตายาวได้ทั้งนั้นเลย โดยเฉพาะ “ เด็กช่วงวัยเรียน

👁 เด็กที่มีสายตายาวไม่มาก  ( ยาวไม่เกิน 200 )
🔹️ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีใครพาไปตรวจวัดสายตาเท่าไหร่ เพราะ กำลังในการเพ่งหรือความสามารถในการปรับภาพชัดของพวกเขา สามารถเอาชนะค่าสายตายาวที่มีอยู่ได้ 
🔹️ พวกเขาจึงไม่มีอาการใดๆ ดูเหมือนเด็กสายตาปกติทั่วไป 

📚 แต่เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเรียน เด็กๆต้องใช้สายตาระยะใกล้ในการเรียนหนังสือมากขึ้น 
🔹️ พวกเขาจึงต้องเพ่งมากขึ้น เพื่อดูหนังสือระยะใกล้และ ยังต้องเอาชนะค่าสายตายาวที่พวกเขามีอีกด้วย
😵‍💫 อาการไม่สบายตา,  ปวดตา, ตาล้า หรือปวดหัวจึงเกิดขึ้นและเริ่มก่อกวนเด็กๆ
🙅‍♂️ ทำให้พวกเขาไม่ค่อยชอบใช้สายตาหรือพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สายตาระยะใกล้ไปเลย สุดท้ายปัญหาสายตาที่พวกเขามีก็กระทบต่อการเรียนในที่สุด 

👁 ส่วนเด็กที่มีสายตายาวมาก ( ยาว 225ขึ้นไป ) 
📌 จะเริ่มน่าเป็นห่วงและควรเฝ้าระวังมากขึ้น เพราะถ้าเด็กๆเหล่านี้ถูกปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย 
😵‍💫 จะมีความเสี่ยงเป็น ตาเหล่เข้าใน ได้ง่าย ( Refractive esotropia)  และอาจกลายเป็น ตาขี้เกียจ ได้ ( amblyopia ) หากไม่ได้รับการแก้ไขภายในระยะเวลาที่เหมาะสม (ไม่ควรเกิน 8 ขวบ)

🥺 ดังนั้น เด็กๆทั้งหลายจึงต้องอาศัยการสังเกตของพ่อแม่ผู้ปกครอง และ การพาพวกเขาไปตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขาได้

*** การตรวจคัดกรองหรือตรวจตาทั่วไป ไม่สามารถบอกปัญหาการมองเห็นได้ทั้งหมด เด็กๆอายุไม่เกิน 12 ปีควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ด้านตาเด็กอย่างน้อย 1 ครั้ง  ***

1. Clinical optics the lecture note
2. Primary care optometry fifth edition
3. Pediatric eye screening
4. ตำราจักษุวิทยาวิวัฒน์ เล่ม 2
5. The Impact of Hyperopia on Academic Performance Among Children: A Systematic Review
6. A review on the epidemiology of myopia in school children worldwide
7. https://www.apa.org/monitor/2020/04/cover-kids-screens
8. https://www.optometrists.org/childrens-vision/vision-for-school/does-hyperopia-impact-learning
9. https://www.aao.org/eye-health/tips-prevention/children-eye-screening
10. https://cdn.allaboutvision.com/vision-screening-IG-1200x3100.gif
11. https://visionaware.org/your-eye-condition/eye-health/eye-examination/
12. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6170055/
13. https://lookafteryoureyes.org/media/headlines/2016-2/research-shows-increasing-myopia-prevalence-children-uk/
14. https://www.optometrists.org/childrens-vision/guide-to-pediatric-eye-conditions/what-is-myopia/the-benefits-of-outdoor-play-for-children-with-myopia/#:~:text=Studies%20show%20that%20children%20who,or%20learning%20in%20the%20classroom.
15. https://www.cham.org/HealthwiseArticle.aspx?id=hw121851#:~:text=The%20AAP%20recommends%20that%20vision,10%2C%2012%2C%20and%2015.&text=The%20AAO%20recommends%20that%20vision,at%20ages%204%20and%205.
16. https://tamalpaispediatrics.com/Simple-Ways-to-Entertain-and-Boost-Your-Baby%E2%80%99s-Dev-1

Comments
* The email will not be published on the website.